ไคโตซาน (chitosan) คืออะไร

ไคโตซานเป็นสารพอลิเมอร์ธรรมชาติที่สกัดได้จากไคตินที่พบในเปลือกกุ้ง กระดองปู และแกนปลาหมึก เป็นต้น โดยมี หมู่อะมิโนที่แสดงสมบัติในการละลายได้ในกรดอินทรีย์เจือจาง สามารถจับกับไอออนของโลหะได้ดี และสารมีฤทธิ์ทาง ชีวภาพ ปัจจุบันมีการนำไคโตซานไปประยุกต์ใช้มากมาย เนื่องจากสมบัติพิเศษหลายประการของไคโตซาน ได้แก่ ความไม่เป็นพิษ มีความเข้ากันได้ทางชีวภาพ (biocompatibility) เสื่อมทางชีวภาพ (biodegradable) และไม่ก่อให้เกิด อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ไคโตซาน (chitosan) เป็นสารธรรมชาติที่รู้จักกันมานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่ไม่ได้มีการศึกษาเพื่อนำมาใช้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2518 ได้มีการรวมตัวกันของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก เพื่อศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารตัวนี้ ซึ่งคุณสมบัติพื้นฐานของไคโตซาน ที่นักวิทยาศาสตร์ต่างศึกษาออกมาได้ผลตรงกัน คือ ไคโตซานเป็นสารที่มีประจุบวก สามารถดักจับไขมันต่างๆที่เป็นประจุลบได้ โดยมีการทดลองใช้สารไคโตซานครั้งแรกในการบำบัดน้ำเสียแบบชีวภาพที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากนั้นไคโตซานก็ได้เข้าไปมีบทบาทในวงการอุตสาหกรรมหลายสาขา และศาสตราจารย์ C.Rouget เป็นผู้ค้นพบไคโตซานครั้งแรกเมื่อ ค. ศ. 1859 โดยการต้มไคตินกับสารละลายโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ เข้มข้น ซึ่งได้สารที่มีสมบัติแตกต่างจากไคติน คือสามารถละลายได้ในสารละลายอินทรีย์เจือจาง และต่อมาในปี 1894 Hoppe-Seiler ได้ตั้งชื่อเป็น “ไคโตซาน” 

ไคโตซาน

บิดาแห่งไคโตซาน

ที่จริงได้มีนักวิทยาศาสตร์ในประเทศต่างๆ  เช่น ยุโรป และอเมริกา ทำการศึกษาวิจัยกันมากมาย แต่ศาสตราจารย์ ดร.ชิกิฮิโร่ ฮิราโน่ (Prof. Shigehiro Hirano) จากมหาวิทยาลัยโตเกียว เป็นนักเคมีชาวญี่ปุ่นที่ทำการศึกษาวิจัยเรื่องไคตินไคโตซานอย่างจริงๆจังๆ มานานเกือบตลอดชีวิต กว่า ๒๐๐ งานวิจัย เขาจึงได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งไคโตซาน ดร.ฮิราโน่กล่าวว่า ถึงแม้เขาจะทำงานวิจัยเรื่องไคโตซานมามาก แต่สารธรรมชาติชนิดนี้ก็ยังเป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับเขาอยู่เสมอ เพราะทุกๆครั้งที่ทำการวิจัย เขาก็จะพบคุณสมบัติและประโยชน์ใหม่ๆของไคโตซานอยู่เรื่อยๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม

SGE

ไคโตซานกับการประยุกต์ใช้ในเมืองไทย

จากการศึกษาเพจ หมอชาวบ้าน ได้ข้อมูลว่าถึงแม้ประเทศต่างๆทั่วโลก จะมีการนำสารไคโตซานมาใช้กว่า ๒๐ ปีมาแล้ว แต่สำหรับประเทศไทย เราเพิ่งจะให้ความสนใจกับสารตัวนี้เมื่อประมาณ ๒ ปีที่แล้วนี่เอง (ทั้งที่มีการศึกษาวิจัยมานานกว่า ๑๐ ปี) และเมื่อไม่นานมานี้ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะ และวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับชมรมไคตินไคโตซาน จัดบรรยายพิเศษทางวิชาการเรื่อง “การประยุกต์ใช้อย่างกว้างของสารไคตินไคโตซาน จากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต” โดยเชิญศาสตราจารย์ ดร.ชิกิฮิโร่ ฮิราโน่ มาเป็นผู้บรรยาย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก

เพราะประเทศไทยส่งออกกุ้งแช่แข็งติดอันดับโลก และมีขยะจากเปลือกกุ้ง เปลือกปู ที่เหลือทิ้งจากการนี้มากมาย นำไปขายเป็นอาหารสัตว์กิโลกรัมละไม่กี่บาท แต่ถ้านำมาแปรรูปเป็นสารไคตินไคโตซานแล้ว จะมีราคาถึง ๕,๐๐๐ บาทต่อกิโลกรัมทีเดียว น่าเสียดายที่ไม่มีหน่วยงานใดให้ความสำคัญนำไปใช้อย่างจริงจัง ก็หวังว่าในอนาคตถ้าหากนักวิทยาศาสตร์ไทย สามารถที่จะนำเอาของเหลืออย่างเปลือกปู เปลือกกุ้ง ที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาลหลายล้านตันต่อปีมาสกัดเป็นไคโตซานที่บริสุทธิ์ได้ ก็จะทำเงินให้ประเทศชาติปีหนึ่งไม่ใช่น้อยๆเลย

SGE

ประโยชน์และสรรพคุณ ไคโตซาน

จากประโยชน์ของไคโตซานที่มีมากมาย แต่เนื่องจากไคโตซานมีน้ำหนักโมเลกุลสูงและความสามารถในการละลายได้ ในตัวทำละลายต่าง ๆ ได้น้อย ทำให้เป็นข้อจำกัดของการนำไปใช้ประโยชน์ จึงมีการปรับปรุงสมบัติของไคโตซานให้ เหมาะสมกับการนำไปใช้ให้ได้มากขึ้น โดยการเพิ่มความสามารถในการละลายได้ของไคโตซาน จะมีประโยชน์ในด้านไหนบ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ 

ด้านอาหาร ไคโตซานมีสมบัติในการต่อต้านจุลินทรีย์และเชื้อราบางชนิด โดยมีกลไกคือไคโตซานมีประจุบวก สามารถจับกับเซลล์เมมเบรนของจุลินทรีย์ที่มีประจุลบได้ ทำให้เกิดการรั่วไหลของโปรตีนและสารอื่นของเซลล์ ในหลายประเทศได้ขึ้นทะเบียนไคตินและไคโตซานให้เป็นสารที่ใช้เติมในอาหารได้ โดยนำไปใช้เป็นสารกัดบูด สารช่วยรักษา กลิ่น รส และสารให้ความข้น ใช้เป็นสารเคลือบอาหาร ผัก และผลไม้ เพื่อรักษาความสดหรือผลิตในรูปฟิล์มที่รับประทานได้ (edible film) สำหรับบรรจุอาหาร

ด้านการแพทย์ ไคตินเป็นสารที่ไม่ก่อให้เกิดการต่อต้านจากร่างกาย เนื่องจากไคตินไคโตซาน เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติสามารถเข้าได้รับร่างกายมนุษย์ ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย ทั้งยังช่วยส่งเสริมการเจริญของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อคนอีก ใช้ส่งเสริมการเจริญของแบคทีเรียในลำไส้ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ต่อต้านมะเร็ง ช่วยลดสารพิษและยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่เป็นอันตราย จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่าสามารถย่อยสลายได้ภายในสัตว์ เนื่องจากมีเอนไซม์หลายชนิดสามารถย่อยสลายได้ และยับยั้งการเจริญของจุลชีพบางชนิดด้วย นอกจากนี้ยังสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในการขึ้นรูปเป็นเม็ดเจลยา ทำแคปซูลยา หรือเป็นส่วนประกอบของยาบางชนิด เพราะหากนำไคโตซานไปผสมกับยา ไคโตซานจะช่วยป้องกันไม่ให้ยาบางชนิดที่ต้องดูดซึมและผ่านกระแสเลือดเท่านั้นโดยน้ำย่อยในกระเพราะย่อยก่อนที่ยาจะเข้าสู่กระแสเลือด นอกจากนี้ไคโตซาน มีสรรพคุณในการใช้ป้องกันฟันผุ มีส่วนช่วยยับยั้งการจับตัวของแบคทีเรีย และยับยั้งการก่อตัวของแบคทีเรียบนผิวฟันสาเหตุของฟันผุ เนื่องจากผิวของสารไคโตซาน แบคทีเรียไม่สามารถเจาะผ่านมาทำลาย ทำให้แบคทีเรียฝักตัวที่เนื้อฟันไม่ได้

ด้านการเกษตรกรรม ไคโตซานสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเกษตรได้ เนื่องจากเป็นพอลิเมอร์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติและเสื่อมทางชีวภาพ ได้ จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษ มีการนำไคโตซานไปใช้เป็นสารเคลือบผลไม้ เพื่อป้องกันแบคทีเรีย ช่วยยืดอายุการเก็บ ของผลไม้ให้ได้นานขึ้น ทำให้ผลไม้ยังสดใหม่อยู่ ไคโตซานใช้ลดปริมาณคลอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด โดยการผสมไคโตซานในอาหาร ซึ่งมีการใช้เป็นส่วนผสมขายในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ คุกกี้ ก๋วยเตี๋ยว และน้ำส้ม นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณในการเคลือบพื้นผิวได้จึงถูกมาใช้ในการเคลือบเมล็ดพันธุ์เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดพันธุ์ติดโรคหรือเน่าเสีย และสรรพคุณบางอย่างในไคโตซานยังสามารถนำไปผสมกับยาเพื่อช่วยในการเร่งการเจริญเติบโตของพืชให้รากงอกได้เร็ว นอกจากนี้ยังไปผสมกับแร่ธาตุเพื่อช่วยเสริมธาตุอาหารในดินด้วย

ด้านความงามและเครื่องสำอาง เนื่องจากไคโตซาน มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำได้ดี และยังช่วยปกป้องความเสียหายของผิวได้จากสรรพคุณที่เป็นแผ่นฟิล์มของไคโตซาน รวมถึงมีฤทธิ์ในการกระตุ้นจุลินทรีย์ ในวงการเครื่องสำอาง จึงนิยมนำไคโตซาน มาเป็นส่วนผสมได้ เช่นแป้ง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว ยาย้อมผม ยาเคลือบสีผม หรือกระทั่งยาสีฟัน

SGE

กลไกการทำงานของไคโตซาน ในร่างกายมนุษย์

ไคโตซานมีขนาดโมเลกุลที่ใหญ่มากทำให้ไม่ถูกดูดซึม แต่จะถูกขับถ่ายออกมาก นอกจากการจับไขมันแล้ว ไคโตซานยังมีคุณสมบัติที่ช่วยจับพวกโลหะหนัก ซึ่งมาจากฝุ่นไอเสียรถยนต์ ยาฆ่าแมลง และ สีผสมอาหาร ได้เป็นอย่างดี วงการเภสัชกรรมจึงได้ใช้คุณสมบัติในการดักจับไขมันในทางเดินอาหารของไคโตซาน มาใช้ในการรับประทานเพื่อลดน้ำหนัก คอเลสเตอรอล และ ไตรกรีเซอร์ไรด์อย่างได้ผล ไขมันที่จับตัวกับไคโตซาน จะไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต แต่จะถูกขับถ่ายออกมาพร้อมอุจจาระ ซึ่งหมายความว่า ไขมันในอาหารมื้ออร่อยปากที่เรารับประทานเข้าไป จะถูกดักจับเสียก่อน โดยไม่มีการดูดซึมเข้าร่างกาย ทำให้ร่างกายได้รับไขมันจากอาหารน้อยลง ไคโตซานช่วยดักจับไขมันและช่วยลดน้ำหนัก ไคโตซานไม่ถูกย่อย เช่นเดียวกับเส้นใยทั้งหลาย จึงไม่ให้แคลอรี่ แต่ที่ต่างจากเส้นใยจากพืชทั่วไป คือ ไคโตซานสามารถดักจับไขมันได้สูง ประมาณ 8 – 10 เท่าของน้ำหนักตัวมันเอง กลายเป็นเหมือนก้อนวุ้นไขมันในทางเดินอาหาร และ ถูกขับถ่ายออกในที่สุด

ไคโตซาน ช่วยลดไขมันได้อย่างไร

คำถามนี้เป็นอะไรที่หลายคนสงสัย เพราะมีแหล่งอ้างอิงมากมายพูดถึงสรรพคุณของไคโตซานในเรื่องของการลดความอ้วน เพราะฉะนั้นวันนี้เรามีข้อมูลมาแชร์กันค่ะ อย่างที่เรารู้ว่า ไคโตซาน เป็นสารธรรมชาติที่มีคุณสมบัติในการดักจับไขมัน จึงมีการนำมาบรรจุแคปซูลเพื่อช่วยคนอ้วนลดไขมันส่วนเกิน นอกจากนี้ไคโตซาน มีความเป็นด่าง มีความสามารถในการดูดจับไขมัน (Fats) หรือไขมัน (Lipids) ในทางเดินอาหารได้อย่างประสิทธิภาพ ทำให้ไขมันไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แต่จะขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ ในปี 1998 นักวิจัยชื่อชิลเลอร์ (Schiller) จากสถาบัน Mosby’s drug Consult ใช้ไคโตซาน ทดลองใช้สารไคโตซานกับผู้หญิงที่มีรูปร่างอ้วน 50 คน เพื่อทดสอบว่าไคโตซานมีผลต่อการลดน้ำหนักหรือไม่ โดยให้ผู้หญิงเหล่านั้นรับประทานไคโตซานจำนวน 1.5 กรัม ก่อนมื้ออาหารเป็นช่วงระยะเวลา 8 สัปดาห์ ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจว่า ไคโตซานทำให้ผู้หญิงเหล่านั้นลดน้ำหนักได้เฉลี่ยคนละ 1-2 กิโลกรัม หรือผลงานวิจัยของนักวิจัยชาวญี่ปุ่นในปี 2002 ซาโฮกะทดลองใช้ไคโตซานกับผู้ป่วยโรคอ้วนในระยะเวลา 6 เดือน พบว่าผู้ป่วยน้ำหนักลดถึง 15.9 กิโลกรัม และนอกจากนี้ยังพบว่าไคโตซานสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ด้วย รวมถึงไคโตซานยังถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์อย่างกว้างขวางอีกด้วย

SGE

ข้อแนะนำและข้อระวังในการใช้ไคโตซาน

ไม่ควรใช้ในผู้ที่แพ้อาหารทะเล เพราะถ้าหากว่ารับประทานอาหารทะเลเข้าไป จะทำให้เกิดอาการได้สำหรับผู้ที่แพ้อาหารทะเล รวมทั้งเด็ก หญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตรก็ไม่ควรรับประทานไคโตซาน ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีปัญหาการย่อยผิดปกติ ไคโตซานจะดูดซับวิตามินที่ละลายในไขมันที่สำคัญอย่าง วิตามินเอ, วิตามินดี, วิตามินอี และวิตามินเค ไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงควรรับประทานเฉพาะช่วงเวลาที่จำเป็น และไม่ควรรับประทานต่อเนื่องกันนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ และหากคุณจำเป็นต้องรับประทานไคโตซาน ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินที่ละลายในไขมันและกรดไขมันที่จำเป็นเพิ่มขึ้นด้วย


ขอบคุณบทความจาก
 สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ / หมอชาวบ้าน / Disthai